‘ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์’ คืออะไร?
‘ผู้นำวิสัยทัศน์’ หรือ ‘Visionary Leadership’ คือ ผู้นำที่มองการณ์ไกล สามารถคาดการณ์และกำหนดทิศทางขององค์กร เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ โดยปัจจัยที่สนับสนุนเส้นทางการพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์นั้น สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงคือ คุณลักษณะแบบใดที่ผู้นำวิสัยทัศน์ควรจะมี ซึ่งสามารถแบ่งคุณลักษณะสำคัญเป็นหลักๆ 3 ด้าน คือ ด้านการสื่อสาร ด้านความเข้าใจทีม และด้านการวางแผนปฏิบัติ
เริ่มจากด้านแรก ผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ คือผู้ที่สามารถมองเห็นในสิ่งที่ผู้อื่นมองไม่เห็นหรือมองข้าม ซึ่งสิ่งนี้เองอาจทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจหรือเห็นจุดบอดในการทำงาน ที่อาจนำมาซึ่งปัญหาในอนาคตได้ ดังนั้นสิ่งแรกที่ผู้นำต้องมีคือความสามารถในการสื่อสารวิสัยทัศน์ที่ตนมีให้ทีมรับทราบและเข้าใจเป้าหมายอย่างชัดเจน เพื่อให้สมาชิกภายในทีมมี “ภาพเป้าหมาย” เดียวกัน เมื่อสมาชิกในทีมมีความเข้าใจและมีจุดมุ่งหมายเดียวกันแล้ว การทำงานในแต่ละส่วนงานต่างๆ นั้นจะสอดคล้องและไปในทิศทางเดียวกัน สนับสนุนให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และสามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กร
ด้านที่สองคือการสร้างความเข้าใจกันภายในทีม ในที่นี้หมายถึง ความเข้าใจในความสามารถ จุดเด่น และจุดที่ต้องพัฒนาของแต่ละบุคคลในทีม ความเข้าใจนี้มีความสำคัญต่อการบริหารจัดการทีม เวลา และทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การเลือกบุคลากรให้เหมาะสมกับเนื้องาน หรือการลดช่องโหว่การทำงานของคนหนึ่งในทีมด้วยจุดแข็งของอีกคน
ด้านสุดท้ายคือการวางแผนงานและการลงมือทำ เป้าหมายและวิสัยทัศน์ที่ดีจะไม่สามารถเกิดประโยชน์ได้ หากการวางแผนนั้นไม่สามารถทำได้จริง ดังนั้นผู้นำควรคำนึงและสร้างแผนงานรองรับ รวมถึงคอยหมั่นตรวจสอบแผนงานที่ใช้ ว่าสอดคล้องกับเป้าหมายและสามารถนำไปสู่เป้าหมายได้ทันเวลา
นอกเหนือจากคุณลักษณะทั้ง 3 อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว สิ่งที่ขาดไปไม่ได้ในการสร้าง ‘ผู้นำวิสัยทัศน์’ นั่นก็คือ IDEAL Framework สนับสนุนการสร้างภาวะผู้นำด้านวิสัยทัศน์ และยกระดับการบริหารจัดการงานได้อย่างสมบูรณ์
คุณลักษณะสำคัญหลักๆ 3 ด้าน คือ ด้านการสื่อสาร ด้านความเข้าใจทีม และด้านการวางแผนปฏิบัติ
Identity Discovery
การค้นหาเอกลักษณ์ (เราคือใคร ?) : ขั้นตอนนี้เกี่ยวข้องกับการทำความเข้าใจลักษณะการทำงานของทีม อีกทั้งยังช่วยให้เข้าใจว่า สมาชิกในทีมแต่ละคนมีมุมมองความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงสิ่งที่เป็นจุดเด่นหรือข้อได้เปรียบของทีม และสิ่งที่ทำให้ทีมมีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งการนำเครื่องมือการวิเคราะห์อย่าง SWOT ก็สามารถนำมาวิเคราะห์ลักษณะการทำงานของทีมได้
Define Purpose
กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน (เหตุใดถึงมีเราอยู่ ?) : อธิบายเป้าหมายหรือภาระหน้าที่ของทีมอย่างชัดเจน ทำไมถึงมีการตั้งทีมขึ้นมา ? เราทำงานร่วมกันเพื่ออะไร ? โดยเป้าหมายนี้ควรสอดคล้องกับสมาชิกทุกคนภายในทีมและสอดคล้องกับตัวตนของทีม
Envision the Future
การสร้างวิสัยทัศน์ (เรากำลังไปไหน ?) : เมื่อคุณทราบแล้วว่าเอกลักษณ์ที่แท้จริงของทีมเป็นอย่างไร และทำไมถึงมีการจัดตั้งทีมขึ้นมา ซึ่งมาถึงในส่วนที่ต้องกำหนดว่าเป้าหมายของคุณ โดยนี่คือวิสัยทัศน์ร่วมกันภายในองค์กร ทั้งเป็นการสร้างคุณค่าและเป้าหมายของคุณ รวมไปถึงสร้างแรงบันดาลใจ และสามารถนำมาเป็นแนวทางเพื่อช่วยในการตัดสินใจในอนาคตได้อีกด้วย
Align & Commit
มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน (เราจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไร ?) : สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงวิสัยทัศน์ขององค์กรร่วมกัน และต้องมั่นใจว่าสมาชิกแต่ละคนรู้บทบาทและหน้าที่ของตัวเองเป็นอย่างดี สร้างแผนกลยุทธ์ กำหนดเส้นทางและเป้าหมายเพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่วางแผนไว้
Launch Action
เริ่มลงมือทำและปรับเปลี่ยน (จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ?) : ขั้นตอนสุดท้ายนั้นก็คือ การลงมือทำจริง เริ่มทำงานตามวิสัยทัศน์ที่วางแผนไว้ ยินดีกับความสำเร็จและเรียนรู้จากความล้มเหลว พร้อมที่จะทบทวนและปรับเปลี่ยนในส่วนที่ควรปรับแก้ในบางครั้งเมื่อจำเป็น เพื่อให้เกิดแรงผลักดันภายในองค์กรให้สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยสรุปแล้ว การจะเป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ได้ดีนั้นจะต้องมีองค์ประกอบทั้ง 3 อย่างรวมเข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์ โดยนำ IDEAL Framework มาปรับใช้ให้เข้ากับการทำงานในองค์กร หากขาดปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งไป อาจก่อให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาวิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำไปด้วย ซึ่งส่งผลต่อทั้งความเชื่อมั่นภายในองค์กรและบุคลากรภายในทีม เพราะฉะนั้นแล้ว การพิจารณานำวิธีการวางแผนและบริหารงานที่กล่าวมาข้างต้นนำมาปรับใช้จริง จะช่วยสนับสนุนการสร้างภาวะผู้นำด้านวิสัยทัศน์สู่ปัจจัยสำคัญแห่งความสำเร็จ และผลักดันให้องค์กรเติบโตไปอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย